27 กันยายน 2554

การใช้เครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์ casio (รุ่นมาตรฐาน fx-350MS) ตอนที่ 2

จากคราวที่แล้ว ผมตั้งใจว่าจะใช้เครื่องคิดเลข CASIO รุ่น fx-115MS แถมยังโชว์ภาพไว้อย่างสวยงามเสียด้วย  แต่ถามไปยังผู้จัดการอบรมแจ้งกลับมาว่า เครื่องคิดเลขรุ่นที่จะนำมาใช้งานในการอบรมนั้น เป็นรุ่น  fx-350MS ซึ่งก็ใกล้เคียงกับรุ่นที่ผมได้โชว์ไว้ในบทความที่แล้วมาก แต่เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนมาก สำหรับนักเรียนที่อาจต้องเข้ามาอ่านวิธีการใช้งาน ผมจึงขออนุญาตเปลี่ยนเล็กน้อย โดยการเอาเครื่องรุ่น fx-350MS นี่ล่ะเป็นหลัก ซึ่งแม้แทบจะไม่มีอะไรที่แตกต่างกันเลยก็ตาม

ลองเอาเครื่องคิดเลขทั้งสองรุ่นมาเปรียบเทียบกันดู ครับ จะเห็นว่า คล้ายกันมากๆ

CASIO fx-115MS
 
CASIO fx-350MS

เอาล่ะเริ่มกันเลยนะ ปกติเมื่อซื้อเครื่องคิดเลขมาปุ่ม กดปุ่มเปิด  [on] ก็กดปุ่มบวก ลบ คูณ หาร ได้ทันที เครื่องคิดเลขตัวนี้ก็เหมือนกัน แต่ว่าคอมพิวเตอร์ทางวิทยาศาสตร์นี้อาจจะซับซ้อนขึ้นมานิดนึง คือ มันมีโหมดให้เลือกด้วย ถ้าจะให้เป็นไปตามขั้นตอน เราก็ควรจะมารู้จักโหมดของเครื่องคิดเลขทางวิทยาศาสตร์นี้กันก่อน

Mode : โหมดของเครื่องคิดเลข
โหมดสำหรับเครื่องคิดเลขรุ่น fx-350MS มีอยู่ด้วยกัน 3 โหมด ดังนี้ครับ

โหมด การกดปุ่ม ความหมาย
COMP [MODE] [ 1 ] เป็นโหมดการคำนวณทั่วไป ซึ่งค่าปกติจะเป็นโหมดนี้
SD [MODE] [ 2 ] เป็นโหมดการคำนวณทางสถิติพื้นฐาน
REG [MODE] [ 3 ] เป็นโหมดการคำนวณการถดถอย ทางสถิติและคณิตศาสตร์

ค่าที่โรงงานผู้ผลิตตั้งมาตั้งแต่แรกก็คือโหมด COMP ครับ และเราจะเริ่มต้นการเล่นเครื่องคิดเลขกันที่โหมดนี้ ถ้าไม่มั่นใจว่าอยู่ในโหมด COMP ก็กดปุ่ม [mode] [ 1 ] อีกครั้งก็ได้

การคำนวณเบื้องต้น
การคำนวณเบื้องต้นในที่นี้ หมายถึง การคำนวณที่เครื่องคิดเลขรุ่นธรรมดาทั่วไป(แบบแม่ค้าใช้) ซึ่งก็จะประกอบไปด้วย การบวก การลบ  การคูณ และการหาร

บนจอแสดงผลควรจะปรากฏดังภาพ


หากบนจอแสดงผล ไม่ปรากฎเหมือนที่แสดงในภาพ เช่น อาจมีตัวอักษรอะไรบางอย่างที่แตกต่างจาก D ปรากฏที่ด้านบน ก็สามารถล้างโปรแกรมใหม่ ได้ โดยกดปุ่มดังนี้

[SHIFT] [MODE] [ 2 ] [ = ] [ = ]


เอาล่ะ ลองคำนวณเวลาเป็นวินาทีในเวลา 1 ปี เล่นๆ ดู โดยเอาปีปกติที่มี 365 วัน โดย 1 วัน มี 24 ชั่วโมง 1 ชั่วโมงมี 60 นาที 1 นาที มี 60 วินาที การคำนวณทำได้โดยการเอาตัวเลขเหล่านี้ คูณเข้าด้วยกัน
365x24x60x60 ก็นำเครื่องคิดเลขมากดตามลำดับได้เลยครับ


พอกดไปเรื่อยๆ ถ้ามันล้นมันก็จะตัดไปทางซ้าย ดังแสดงในภาพ เมื่อกดหมดทุกตัวแล้ว ก็กดปุ่ม [ = ]
ผลที่ได้



ลำดับการคำนวณเบื้องต้น
หากเรากดตัวเลขกับเครื่องหมายตัวดำเนินการทางคณิตศาสตร์เรียงต่อเนื่องกันไป เครื่องคิดเลขจะนำเอาการ คูณ หาร กันก่อนก่อนที่จะทำการบวกลบ เช่น ถ้าเราต้องการเอา 10 คูณกับผลลัพธ์่จาก 7 + 8 ซึ่งคำตอบก็คือ 150 แต่ถ้าเรากดเครื่องคิดเลขตามนี้

[ 1] [ 0 ] [ x ] [ 7 ] [ + ] [ 8 ] [ = ]

ผลลัพธ์ที่ได้กลับกลายเป็น 78  (ลองกดดูครับ)  ทั้งนี้ก็เพราะว่าเครื่องคิดเลขจะนำเอา 10 คูณกับ 7 ก่อน ซึ่งได้เท่ากับ 70 แล้วจึงเอามาบวกกับ 8 จึงได้ 78

สิ่งที่เราต้องทำเมื่อเจอสถานการณ์นี้ก็คือ การใช้วงเล็บ  เพราะเครื่องคิดเลขจะดำเนินการในวงเล็บก่อน ก่อนที่จะดำเนินการอย่างอื่น ดังนั้นในกรณีที่ผ่านมาเราสามารถเขียน เป็นประโยคทางคณิตศาสตร์ได้ คือ

10 x (7+8) =


ในทางคณิตศาสตร์การคูณอาจละไว้ในฐานที่เข้าใจก็ได้ เช่น

10(7+8)=


การล้างข้อมูลบนจอแสดงผล
ทำได้โดยการกดปุ่ม  [AC] ซึ่งจะทำให้บนหน้าจอว่างเปล่าเหมือนกับตอนแรกที่เปิดเครื่องมา
แต่บางครั้งก็เกิดปัญหาครับ เพราะบางคนลืมจดตัวเลขผลลัพธ์ไปใช้หรือจำตัวเลขสุดท้ายที่ได้จากการคำนวณไม่ได้ สำหรับเครื่องคิดเลขรุ่นนี้ไม่มีปัญหา เพราะเราสามารถนำตัวเลขสุดท้ายมาใช้ได้ โดยการกดปุ่ม  [Ans] [ = ]  ตัวเลขสุดท้ายก่อนที่เราจะล้างข้อมูลหน้าจอ ก็จะแสดงขึ้นมาให้เราเห็น

การแก้ไขโดยการลบหรือกดทับตัวเดิม
เมื่อเรากดตัวเลขหรือสัญลักษณ์ผิด เราสามารถใช้แป้นย้ายเคอร์เซอร์ ไปยังตัวที่เราพิมพ์ผิด จากนั้นก็ใช้ปุ่ม [DEL] เพื่อลบสิ่งที่เราพิมพ์ลงไป หรืออาจจะกดสิ่งที่ถูกต้องลงไปทับเลยก็ได้ (ปุ่มย้ายเคอร์เซอร์ ก็คือปุ่ม REPLAY แล้วก็มีลูกศร ซ้าย ขวา บน ล่าง) ข้อสังเกตของเคอร์เซอร์เมื่อมันอยู่ตำแหน่งไหน ก็คือ มันจะกระพริบครับ

การแก้ไขโดยการแทรก
หากเราต้องการแทรกสัญลักษณ์หรือตัวเลขบางตัวลงไป เช่น เราต้องการ 4x5 บวกกับ 2.34x0.0123


จะเห็นว่าเราลืมกดเครื่องหมายบวกระหว่างเลข 5 กับเลข 2
วิธีการก็คือ เลื่อนเคอร์เซอร์ไปไว้ที่เลข 2 แล้วกดตามนี้

[SHIFT] [DEL]     ** หมายถึงการเปลี่ยนมาเป็นการแทรกแทนการแทนที่ เคอร์เซอร์ก็จะเปลี่ยนร่างด้วย
[ + ] [ = ]
ก็จะได้ผลลัพธ์ดังแสดง



ข้อผิดพลาด
บ่อยครั้งที่เรากดอะไรลงไปแล้ว เครื่องคิดเลขมันไม่เข้าใจ เช่น เราใส่ทศนิยม ซ้อนกันแล้วไปกดให้มันคำนวณ เข้า เช่น [ 1 ] [ 2 ] [ 3 ] [ x ] [ 2 ] [ = ]
มันก็จะบอกว่า

ต้องล้างจอแสดงผล [AC] อย่างเดียว

การคำนวณเกี่ยวกับร้อยละ

ขอยกตัวอย่างเรื่อง ร้อยละ เป็นเรื่องแรก เพราะเรื่องนี้ใ่ช้บ่อยทีเดียว เช่น ร้อยละ 5 ของ 2,300,000 มีค่าเท่าใด ซึ่งเราต้องกดดังนี้

[ 2 ] [ 3 ] [ 0 ] [ 0 ] [ 0 ] [ 0 ] [ 0 ] [ x ] [ 5 ] [SHIFT] [ = ] 


ความหมายของประโยคด้านบนก็คือ เอา 2,300,000 มาคูณ กับ  5 แล้วก็หารด้วยร้อยครับ
เราไม่สามารถที่จะเอา 5%แล้วเอามาคูณกับตัวเลขที่ต้องการครับ มีหลักอยู่ว่าเปอร์เซนต์จะต้องอยู่ท้ายประโยคเสมอครับ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความผิดพลาดได้ (แต่เครื่องคิดเลขยี่ห้ออื่นๆ บางรุ่นก็อาจทำได้นะครับ)

ตัวอย่างที่หลากหลาย

450 ของ 600 คิดเป็นกี่เปอร์เซนต์
[ 4 ] [ 5 ] [ 0 ] [ ÷ ] [ 6 ] [ 0 ] [ 0 ] [SHIFT] [ = ]


คำตอบคือ 75 เปอร์เซนต์

ส่วนลดราคาสินค้า เช่น ถ้าต้องการรู้ว่าสินค้าชิ้นหนึ่งราคา 2,300 บาท ถ้ามีส่วนลด 7% ราคาสินค้าจะเหลือกี่บาท วิธีการเราได้ทำได้ โดย
  1. หาว่า 7% ของ 2,300 บาท เป็นเท่าไร แล้ว
  2. เอาผลลัพธ์จากข้อ 1 ไปลบ 2,300 บาท
ซึ่งขั้นตอนการกดมีดังนี้ครับ
      [ 2 ]  [ 3 ]  [ 0 ] [ 0 ]  [ x ] [ 7 ] [SHIFT] [ = ]
ผลลัพธ์ที่ได้คือ 161  ทีนี้ก็กดต่อไปเลย ดังนี้
      [ 2 ]  [ 3 ]  [ 0 ] [ 0 ] [ – ] [Ans] [ = ]

newPix14
แต่มีวิธีการที่ลัดกว่าครับ โดยกดดังนี้ครับ
    [ 2 ]  [ 3 ]  [ 0 ] [ 0 ]  [ x ] [ 7 ] [SHIFT] [ = ] [ – ]
ลองเล่นดูอีกสักตัวอย่าง เช่น เราเก็บเงินไว้กับตัว 270,000 บาท โดยไม่ใช้เลย สมมติว่าปีนั้นเงินเฟ้อ 3.4% ปลายปีมูลค่าเงินเราจะเหลือเท่าไร ก็กดเครื่องคิดเลขดู
    [ 2 ]  [ 7 ]  [ 0 ] [ 0 ]  [ 0 ] [ 0 ] [ x ] [ 3 ] [ . ] [ 4 ] [SHIFT] [ = ] [ – ]
newPix17

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราอยากรู้ว่า การลงทุน 270,000 บาท โดยมีผลตอบแทน 7.5% ปลายปีเราจะได้เงินคืนเท่าใด ก็กดคล้ายๆ กันกับตัวอย่างที่แล้ว แต่เปลี่ยนเครื่องหมาย ลบ เป็น บวก ดังนี้
    [ 2 ]  [ 7 ]  [ 0 ] [ 0 ]  [ 0 ] [ 0 ] [ x ] [ 7 ] [ . ] [ 5 ] [SHIFT] [ = ] [ + ]

newPix18

ลองอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ครูในโรงเรียนพบบ่อยๆ คือ ถ้าต้องการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้นอีก 5% จากฐานเดิม ต้องทำคะแนนเท่าไร สมมติว่า ฐานคะแนนเดิมของเราคือ 33.3 คะแนน (เต็ม 100) ลองกดดู ตามนี้ครับ
    [ 3 ]  [ 3 ]  [ . ] [ 3 ]  [ x ] [ 5 ] [SHIFT] [ = ] [ + ]
คำตอบก็คือ 34.965
แต่ถ้าครูคนเดิมเกิดตั้งเป้าหมายไว้ในใจว่า ถ้าฉันสามารถสอนให้นักเรียนฉันมีคะแนนเฉลี่ยปลายปีได้ 36 คะแนน (จากฐานเดิม 33.3 ) คิดเป็นเปอร์เซนต์ มันเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซนต์ ก็กดอย่างนี้ครับ
    [ 3 ]  [ 6 ]  [ - ] [ 3 ] [ 3 ]  [ . ] [ 3 ] [SHIFT] [ = ] 
คำตอบก็คือ 8.108108108
กรณีศึกษาที่เราพบบ่อยๆ ก็คงจะประมาณนี้แหละครับ ใครมีอะไรเพิ่มเติม ก็คอมเมนต์ไว้ได้นะครับ ครั้งนี้ผมขออนุญาตหยุดไว้แค่นี้ก่อน

18 กันยายน 2554

ข้อเสนอการประยุกต์ใช้ KM

ก่อนขึ้นเรื่องนี้ อาจารย์ทบทวนโมเดลปลาทูก่อน ซึ่งเป็นโมเดลการจัดการความรู้ของ สคส

ที่มา : เว็บไซต์ gotoknow.org

หัวปลา –> เป็นส่วนที่เป็น “วิสัยทัศน์”  “เป้าหมาย”

ตัวปลา –> ….เป็นส่วน “หัวใจ” ที่ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่าง คนที่แกะสลักบานประตูวัดสุทัศน์ ที่ผู้สร้างสร้างเสร็จแล้วรุ้สึกปิติ รู้สึกสุดยอด รู้สึกว่าไม่มีงานชิ้นไหนที่ตนเองทำได้ จะดีไปกว่านี้อีกแล้ว ถึงกับโยนเครื่องมือต่างๆ ที่ทำงาน โยนทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยา

หางปลา –> ส่วน “หางปลา” เป็นส่วนที่เป็นคลังความรู้ทำให้สามารถรวบรวม จัดเก็บความรู้ ได้อย่างเป็นระบบ ช่วยให้การเผยแพร่กระจายความรู้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอการประยุกต์ใช้

ก่อนอื่น ต้องรู้มาตรฐานความรู้ของครูซะก่อน

  1. ภาษาและเทคโนโลยีสำหรับครู
    ใช้ภาษาให้ถูกนะครู หลุดบ้างก็ไม่ว่ากัน
  2. การพัฒนาหลักสูตร
    มีระยะหนึ่งที่ให้ครูสร้างหลักสูตรเอง ตอนนี้ไม่ต้องเพราะมีหลักสูตรแกนกลาง …
  3. การจัดการเรียนรู้ :
    เรามีคำถามกับตัวเองไหมว่า เรามีการออกแบบการสอนได้กี่แบบแล้ว (ฮา) ก็สถาปนิกที่เขาออกแบบบ้านไง เขาออกแบบบ้านไว้ตั้งเยอะแยะก่อนที่เขาจะตายไป ไม่มีทางเป็นไปได้ ที่เขาจะมีแบบบ้านเพียงแบบเดียว
  4. จิตวิทยาสำหรับครู
    ครูได้ใช้ไหม ใช้ทีหลัง หลังจากด่าไปแล้ว (ฮา) เรียกว่า จิตวิทยามาทีหลัง (อารมณ์)
  5. การวัดและประเมินผลการศึกษา
    การวัดประเมินผลตามสภาพจริง นี่น่าสนใจมาก ดร.ไมเคิล บาร์เบอร์ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ว่าต้องใช้วิธีนี้
  6. การบริหารจัดการในห้องเรียน
    เคยใช้หลักในการจัดห้องเรียนไหม เช่น ให้อิสระภาพแก่เขาในการนั่ง หรือหลักมั่ว
    พวกหลังห้องเป็นยังไง ตั้งใจเรียนน้อยกว่า หรือเปล่า แล้วครูใส่ใจพวกไหนมากกว่า นั่งคู่กันต้องทำไงให้เขาเรียนดีขึ้น
    ครูได้เคยใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องการจัดการห้องเรียนหรือเปล่า หรือปล่อยปละละเลย ใครใคร่เรียนๆ ใครใคร่หลับหรือเล่นก็ปล่อยไปหรือเปล่า ซึ่งความจริงไม่ใช่ ครูต้องจัดการห้องเรียนให้มีประสิทธิภาพ ให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างราบรื่น
    ดร.ไมเคิล บาร์เบอร์ บอกว่า การสอนซ่อมเสริม ต้องเปลี่ยนครูคนใหม่ เพราะมัมตกกับครูคนเดียวกันกับคนที่มาซ่อมเสริม ทัศนคติมันแย่ไปแล้ว (เป็นข้อเสนอที่ดีทีเดียว แต่จะทำได้หรือเปล่า ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

    การศึกษาขั้นพื้นฐาน จบแล้วอ่านไม่ออก จบ ป.ตรี พออ่านออกเขียนได้ (ฮา) เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้จริงๆ เมื่อก่อนจบ ม.6 เป็นครูได้เลยนะ แต่เดี๋ยวนี้เป็นไง จบ ม.6  อ่านไม่ออกมีไม่น้อยนะ เรายังเฉยๆ กันอยู่เหรอ บางคนบอก “ชินแล้ว”  เราชินไม่ได้นะ เราเป็นนักการศึกษา
  7. การวิจัยทางการศึกษา
    ผ่านเร็ว
  8. นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา
    ผ่านเร็ว
  9. ความเป็นครู
    เดี๋ยวนี้ มีการสอบวัดแววครู เขาวัดอะไรกัน
    มีคำตอบว่า วัดความคิด ทักษะการคิด อนุกรมเลข อะไรพวกนี้ เป็น attitude test
    แต่ความเป็นครู มันเป็นสิ่งที่อยู่ใน “จิต วิญญาณ เป็นอุดมการณ์”
    มันอยู่ที่หัวปลา

ข้อเสนอต่อมา

  • ขั้นตอน Socialization –> ให้ครูได้มีโอกาสพบประแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอยู่เสมอ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
    ทางตรงก็เช่น การประชุม ถ้าทางอ้อม ก็เป็นการพูดคุย แบบไม่เป็นทางการ คุยสนุก อาจจะเริ่มจากนินทาผุ้บริหาร ลามไปนินทานักเรียน หรือเพื่อนครูด้วยกัน การเปิดโอกาสให้พวกเขาคุยกัน มันก็จะเป็นกระบวนการนี้แหละ นินทายังไง มันก็ต้องพูดเรื่องงานบ้างล่ะน่า  อาจจัดห้องพักครูให้เขาได้คุยกัน
    ดังนั้น
    ผู้บริหารต้องหาสถานที่ เวลา ให้ครูได้เข้าไปคุยกัน จากการวิจัยพบว่าห้องนั้น ห้อง “เย็น เงียบ และมืด” แล้วใจเราจะสงบ เมื่อใจนิ่งมีสมาธิแล้วมันจะมีปัญญา แต่ที่โรงเรียนอาจจะทำห้องมืดไม่ได้ นี่จากการงานวิจัยนะ ลองเอาไปทำดู ลองหากาแฟ ขนมไปวางไว้บ้าง
    บางโรงงานจะไม่มีโต๊ะของตนเองนั่งทำงาน คือไม่มีอาณาจักรของตนเอง แต่เขามีโนตบุค แต่ที่โรงเรียนไม่ใช่เช่นนั้น เป็นเรื่องใหญ่มาก แค่การเลือกที่นั่ง เลือกโต๊ะ เลือกสถานที่

    การที่ทำให้เขามีที่คุยกัน จะทำให้ tacit knowledge มันไหลออกมา
  • ขั้นตอน Externalization –> ครูได้สรุปเทคนิค วิธีสอน ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูด้วยกัน กำหนดประเด็นที่จะบันทึกร่วมกัน อยู่ในรูปแบบ Focus Group
  • ขั้นตอน Combination—> สนับสนุน ส่งเสริให้คณะครูนำ Explicit Knowledge ที่ได้ไปใช้จริง หรือลองเอาไปทำวิจัยในชั้นเรียน
  • ขั้นตอน Internalization –> การเผยแพร่ Explicit Knowledge ที่พัฒนาขึ้นให้กระจายไปสู่ครูอื่นๆ ต่อไป
    จัดเอกสารไว้อย่างเพียงพอในห้องสมุดครู
    การนำประเด็นสำคัญในสาระความรู้ไปคุยกันในที่ประชุม
    เมื่อครู ป. 3 ฒีข้อเสนอดีๆ ผอ. ก็เอามาเล่าให้ครูอื่นๆฟัง
    เล่าให้ฟังเพิ่มเติม ภายหลังครู(อ.อรรณพ) จบ ป.เอก เพื่อนก็ถามว่าไปเรียนอะไรมาบ้าง ก็บอกว่าเมื่อครู assign งาน ให้ไปอ่านมาแล้วมาเล่าให้อาจารย์ฟัง อาจารย์เลยบอกว่า ลองจะเอาวิธีการนี้มาใช้ เลยบอกเพื่อนว่า เอาวิธีนี้ไปใช้ไหม เพื่อนบอกว่าดี ก็เลยทำกัน เวลาจะกินช้าวกันก็จะมีคนเป็นเหมือน keynote speaker เตรียมความรู้มาพูดกัน คนที่เป็นวิทยากรนั้น ก็จะไม่ต้องแชร์ค่าข้าวกับเพื่อน แล้วก็ผลัดกันไปเรื่อยๆ  ดีนะ  ลองไปทำดู

ลองเอาโมเดลปลาทูบ้างซิ

มีหัวปลารึยัง ก็ภาระงานเราไง เช่น

  1. ระบบการดูแลช่วยเหลือผู้เรียน
  2. การสอนซ่อมเสริม
  3. การโค้ชชิ่ง
  4. ….
  5. ….

 

คนส่วนใหญ่มักจะแลกเปลี่ยนกัน แต่ Explicit Knowledge ซึ่งเป็นความรู้ภายนอก ความจริงน่าจะมี tarcit ด้วย ประสบการณ์ส่วนตัว เป็นต้น

 

ข้อควรระวังในการทำ KS : Knowledge Sharing

  • ให้แชร์  “เรื่องเล่า”
    ไม่ใช่แชร์ “ความคิด” อย่าแชร์ทฤษฎี ความเชื่อ ค่านิยมต่างๆ
  • เป็น “การบอกเรื่องราว”
    ไม่ใช่ “การแก้ปัญหา”
    ไม่ใช่ “การวางแผน”
  • Share แล้วต้อง Learn
    Learn แล้วต้อง Lead (นำ)
       … นำสู่การกระทำ
       … นำสู่ภาพที่ต้องการ

คลังความรู้

ส่วนของหางปลา หรือคลังความรู้ มีอยู่ 3 ส่วน

  1. เรื่องที่เล่า ประสบการณ์ต่างๆ (เป็นในส่วนที่เรียกว่า tarcit)
    เขียนเป็นเรื่องราว คำพูด เช่น อยากรู้ว่านักเรียนได้ประโยชน์ในแต่ละวันจากการมาเรียนในแต่ละวันหรือไม่ แล้วก็เอามาบอกเล่า ครูคนนี้จึงสรุปเป็นความรู้ของเขาว่า ความรุ้ที่นักเรียนได้รับ ควรจะมีความหมาย หรือสอดคล้องกับเป้าหมายของเขา ทำให้เขาได้ทบทวนเป้าหมายตนเอง
  2. การถอดบทเรียนที่ได้
    เมื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จาก tarcit มันก็จะเริ่มออกมาเป็น explicit
  3. แหล่งข้อมูล บุคคลอ้างอิง

 

อาจารย์ยกตัวอย่างอีกมากมาย น่าสนใจทีเดียว แต่บันทึกไม่ทัน ตัวอย่างหนึ่งก็คือ การวัดผลตามสภาพจริง  การใช้ไอซีที มาจัดการเรียนการสอน

 

อาจารย์สรุปในสไลด์ท้ายๆ ว่า  ครู  ต้อง….ดี ….  และ เก่ง

เก่งอะไร    การสอน….  ดูแลนักเรียน…..  จัดกิจกรรม….



การจัดการความรู้

พักนี้เนื้อหาที่ครูฟิสิกส์โพสต์ค่อนข้างมั่วและสับไปสับมา แต่ก็เป็นธรรมดาของครูในระดับมัธยมศึกษา ที่ไม่ได้ลงลึกไปในด้านใดด้านหนึ่งเสียทีเดียว แต่ความรู้จะเป็นแนวกว้างๆ

อาจารย์อรรณพ เป็นผู้บรรยายในเช้าวันนี้ พูดถึงเรื่อง “การจัดการความรู้” สำหรับสถานศึกษา (ปรัชญาของประกาศนียบัตรบัณฑิต คือ การนำไปประยุกต์ใช้ ไม่เน้นทฤษฎีนัก)

ประเด็นที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเช้าวันนี้ ก็มี 4 ประเด็น

  • ความหมาย
  • คุณค่า
  • รูปแบบการจัดการความรู้
  • ข้อเสนอ การประยุกต์ใช้

ความหมาย (นพ.วิจารณ์ พานิช)

นพ.วิจารณ์ พานิช ถือเป็นกูรู หรือเป็นเอตะทัคคะทางด้านการจัดการความรู้ ท่านบอกไว้ว่า การจัดการความรู้ คือ

  • การรวบรวม การจัดระบบ การจัดเก็บ และการเข้าถึงข้อมูลเพื่อสร้างเป็นความรู้ โดยมีเทคโนโลยี ด้านข้อมูลและคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือช่วย
  • เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ต้องอาศัยผู้รู้ในการตีความและประยุกต์ใช้
  • ช่วยสร้างความมีชีวิตชีวาและความสำเร็จให้องค์กร

นอกจากนี้ ยังมีความหมายอื่นๆ อีก ตามนี้

  • การจัดการเพื่อเอื้อให้เกิดความรู้ใหม่
  • กระบวนการในการผสมผสานความสามารถของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการประมวลผลข้อมูลสารสนเทศ และความสามารถของคนเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม
  • เป็นกลยุทธ์และกระบวนกการในดารจำแนก จัดหาและนำความรู้มาใช้ประโยขน์เพื่อช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

คุณค่า

 

 

นิยามความรู้

Michael Polanyi and Ikujiro Nonaka แห่งมหาวิทยาลัย Hitotsubashi ประเทศญี่ปุ่น

ได้จำแนกความรู้ที่อยูกับ “คน” มีอยู่ 2 ลักษณะ

  • Tacit Knowledge –> เป็นความรู้ซ่อนเร้น (ภูมิปัญญา,ประสบการณ์)
    อาจารย์พูดได้น่าฟังมาก ว่าวิทยฐานะ ประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความเป็นวิชาชีพชั้นสูง”
    วิทยฐานะ ไม่ใช่ขวัญและกำลังใจ แต่ตอนนี้ เรากำลังทำให้วิทยฐานะเป็นเหมือนการสงเคราะห์คนยาก  มันควรจะเป็นสิ่งซึ่งแสดงความเก่ง ความสามารถ ประสบการณ์ ความเป็นมืออาชีพที่มีอยู่ในตัวครูคนนั้น เช่นเดียวกับแพทย์เก่งๆ ที่ต้องเจอกับเคสยากๆ เคสยากๆ ต้องไม่ใช้แพทย์อินเทอร์น ดังนั้น ในการศึกษาถ้าเจอเคสยากๆ มันต้องครูเชี่ยวชาญ แต่ทุกวันนี้ ลองไปดูที่โรงเรียน เคสยากๆ กลายเป็นครูฝึกหัด ครูอัตราจ้าง ซะงั้น ;-p
  • Explicit Knowledge –> ความรู้เด่นชัด (วิทยาการ) ความรู้ที่เราเรียนกันทั้งหมดนี้แหละถือว่าเป็น explicit knowledge  ตัวอย่าง ก็เช่น ตำราอาหารต่างๆ ที่เขาทำขาย เราไปทำตาม บางทีก็ไม่อร่อย ต้องไปดูเทคนิคจริงๆ ของแม่ครัว(ซึ่งมันเป็น tacit knowledge) ซึ่งก็ทำให้เราทำอาหารได้ดีขึ้น

อีกอันหนึ่งซึ่งมันมีอยู่ เรียกว่า Embedded Knowledge : ซึ่งเป็นความรู้ที่ฝังอยู่ภายในองค์กร ตัวอย่างในโรงเรียนเช่น ครูเก่งๆ เรามีเยอะแยะ พวกที่พูดแล้วนักเรียนเชื่อฟัง ได้แรงบันดาลใจ ครูเหล่านี้บางทีเกษียณไปแล้วความรู้เหล่านี้ก็จะหายไปหากไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้เอาไว้

Explicit Knowledge ที่เรามองเห็นเทียบได้เขาภูเขาน้ำแข็งแล้วก็คือส่วนที่มันโผล่มาเหนือน้ำ ส่วนอีกกว่า 90% นั้นจมอยู่ใต้น้ำซึ่งเป็นส่วนของ Tacit Knowledge ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร(การศึกษา) คุณควรจะต้องทำให้ tacit knowledge ที่ฝังอยู่ในตัวคนนั้นแสดงออกมา หรือถ่ายทอดออกมาให้ได้

 

มาดูอีกโมเดลหนึ่ง

KM - เป็นเรื่องของการปะทะรังสรรค์ หรือที่เราเรียกว่า แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จากโมเดลในช่อง Socialization จะเห็นว่ามีการทำ tacit ให้เป็น tacit ที่ชัดเจนขึ้น เพราะความรู้เมื่อมันได้รับการยืนยันจากสังคม เพื่อนร่วมงาน ความเชื่อมั่นในความรู้ที่อยู่ในตัวคนก็จะดีขึ้น จากนั้นเมื่อมันเข้าสู่ Externalization ในกระบวนการนี้ มันจะเริ่มกลายเป็น Explicit Knowledgeซึ่งมันเป็นการคอนเฟิร์มความรู้ที่อยู่ในตัวคนนั่นเอง ที่เขาเริ่มจะประกาศออกไปภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายบอกเล่า บ่อยๆ เข้ามันก็ยกระดับเข้าสู่กระบวนการ Combination มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ปรับปรุงให้ดีขึ้น เข้าใจง่ายขึ้น กลายเป็น Expicit Knowledge ที่ดีขึ้น เข้าสู่ Internalization ซึ่งความรู้ถูกขยายผล แผ่กว้างออกไป ผู้อื่นสามารถนำไปใช้ได้

 

กระบวนการจัดการความรู้ (สพฐ.)

เป็นการประยุกต์ KM ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปใช้

  • การจัดระบบรวบรวมจัดเก็บความรู้
    - สร้าง เสาะหาความรู้
    พูดนอกเรื่องว่าเซอร์ไมเคิล บาร์เบอร์ จะมาพูดที่ไบเทคเกี่ยวกับเรื่อง การวัดผล ประเมินผล เกี่ยวกับการเรียนการสอนสมัยใหม่ สัปดาห์หน้า(ท้ายๆ เดือน ก.ย. 2554)  ซึ่งหน้าสนใจมาก
    สพฐ. สั่งอะไรต้องได้ตามนั้น ครูไทยเก่งมาก เช่น สั่งให้เอา best practice มาแสดงสั่ง 3 วันแล้วเอามาจัดแสดง ครูไทยก็ทำได้
  • การเข้าถึงความรู้
    - ช่องทางการสื่อสารที่ง่าย สะดวก จะใช้ช่องทางโดยผ่านคอมพิวเตอร์ หรือสร้างระบบสารสนเทศให้ทุกคนเข้าถึงกัน
  • การแบ่งปันความรู้
    - กิจกรรมกลุ่ม ประชุมสัมมนา
    จัดให้มีการประชุมสัมมนา ทั้งระบบเชิญคนมาประชุม หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย การจัดระบบ KM ใช้ระบบสารสนเทศเยอะมาก

โมเดลปลาทู

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (อาจารย์พักแค่นี้ เดี๋ยวหลังดื่มกาแฟแล้วมาต่อ)



02 กันยายน 2554

การใช้เครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์ casio (รุ่นมาตรฐาน) ตอนที่ 1

เครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์ของ casio เป็นที่นิยมมากของนักเรียน นักศึกษา เพราะมีหลากหลายรุ่น ทั้งรุ่น standard models หรือพวก hi-end ที่การแสดงผลเป็นกราฟิกมีสีสันสวยงาม  รุ่นมาตรฐานหรือ Standard Models ดูจะเป็นที่นิยมมากของนักเรียน นักศึกษาในระดับ ม.ปลาย ปวช. ปวส. (หรือแม้แต่ระดับปริญญา) มากกว่ารุ่นอื่นๆ เพราะราคาถูกกว่า และฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ก็ครบถ้วน เหมาะกับระดับการเรียนรู้ โดยปกติเมื่อเราไปซื้อเครื่องคิดเลข ในกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์จะมีคู่มือมาให้ด้วยเป็นภาษาอังกฤษ ภายในคู่มือก็จะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการใช้งานเครื่องคิดเลข หากอ่านจนครบก็จะสามารถใช้เครื่องคิดเลขได้อย่างคุ้มค่า แต่อย่างไรก็ตามบางคนที่ใช้ๆ ไป เกิดทำคู่มือหายบ้าง ขาดบ้าง หรือเก็บไว้ดีเกินไปจนหาไม่เจอ เมื่อจะใช้งานฟังก์ชั่นบางอย่างจึงไม่สามารถทำได้ (เพราะมันลืม) เครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์ที่ซื้อมาจึงไม่ต่างจากเครื่องคิดเลขที่แม่ค้าร้านตลาดใช้มากนัก

ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาในอีก 1 เดือนข้างหน้า จะมีการอบรมการใช้เครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนนี่เอง เพื่อนที่จัดอบรมจึงมาขอร้องให้ช่วยเขียนคู่มือเครื่องคิดเลขให้หน่อย โดยให้เขียนเป็นภาษาไทย ตอนแรกคิดว่าจะเสียเวลาเขียนทำไม เพราะว่าคู่มือภาษาอังกฤษที่ให้มากับเครื่องคิดเลขนั้นก็ดีมากอยู่แล้ว มีเป็นขั้นเป็นตอน แต่เมื่อลองเอาไปทดสอบกับนักเรียนดูพบว่า นักเรียนเรียนรู้ได้ช้าและสับสนโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนใช้ฟังก์ชั่น จึงตกลงใจที่จะเขียนคู่มือสั้นๆ แสดงการใช้เครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์นี้ขึ้นมา

อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้น ด้วยความที่ casio มีรุ่นเครื่องคิดเลขให้ใช้มาก ราคาก็ไม่แพง นักเรียน นักศึกษาจึงนิยมมากกว่ายี่ห้ออื่นๆ จึงแนะนำไปว่าขอเป็น casio รุ่นมาตรฐานก็แล้วกัน แล้วจะช่วยเขียนคู่มือการใช้งานให้ แล้วก็แจกลิงค์ให้นักเีรียนเข้ามาอ่านเอา หรือไม่ก็พิมพ์ออกเป็นเอกสารสำหรับคนที่ไม่สะดวกอ่านบนจอคอมพิวเตอร์ เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ก็เลยไปหาซื้อเครื่องคิดเลขมาเป็นตัวอย่าง จะได้ทดลองกดตามไปด้วย รุ่นที่เอามาเป็นตัวอย่างก็คือ fx-115MS เข้าใจว่ารุ่นอื่นๆ ที่อยู่ในซีรีส์เีดียวกันนี้ ก็สามารถกดตามได้เช่นเดียวกัน (ดูตัวอย่างรุ่นต่างๆ ของ casio รุ่นมาตรฐานได้ที่นี่ http://edu.casio.com/products/standard/ )

และนี่เป็นรูปร่างหน้าตาของเครื่องคิดเลข ที่นำมาเป็นตัวอย่างการใช้งานครับ



บทความต่อไปจะเป็นการใช้งานเบื้องต้นครับ ขอหยุดบทความนี้ แค่นี้ก่อนนะครับ

การสมัครใช้ wordpress.com

เนื่องจาก "ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (วิทยาศาสตร์ทั่วไป)" จะมีการจัดอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรในส่วนของครูผู้สอน วิชา วิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่สอนในวิชา วิทยาศาสตร์ทั่วไป หัวข้อการอบรมก็คือ Social Media ผู้จัดทำโครงการได้ไปปรึกษาเรื่องนี้กับครูผู้สอนคอมพิวเตอร์ ได้มีความเห็นว่าควรที่จะอบรม wordpress สำหรับเขียนบล็อก ให้ครูได้นำไปใช้ หลายๆ คนก็เห็นด้วย ผมเองถึงแม้จะใช้ blogger อยู่ ก็ไม่ได้ขัดแย้งอะไร เพราะจะใช้อะไรก็แล้วแต่ความถนัด ส่วนตัวนั้นใช้ได้ทั้งสองค่ายแต่ชอบ blogger มากกว่าเพราะมีเครื่องมือจากกูเกิ้ลให้ใช้เยอะดี

แต่ก่อนการจัดอบรมนั้น ผู้จัดทำโครงการได้รับแจ้งมาจากวิทยากรว่า ปัญหาที่ผ่านมาสำหรับการอบรมในลักษณะนี้ ก็คือ ทุกคนที่เข้าอบรมจะต้องมีบััญชีก่อน จึงมีการสมัครเข้าใช้บริการของ wordpress.com พร้อมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการปฏิเสธการให้สมัคร(เป็นระบบป้องกันการโจมตีเว็บไซต์ของเขา) จึงขอร้องให้ผมหาวิธีการที่จะให้ผู้เข้าอบรมเตรียมการสมัครใช้บริการของ wordpress แต่เนิ่นๆ เสียก่อน

และนั่นคือที่มาของเนื้อหาในวันนี้ แต่แทนที่จะแนะนำกันเป็นเอกสารเว็บ ในตอนนี้ก็ขอทำเห็นวีดิโอแทน ความยาวประมาณ 8 นาที  ดังแสดงด้านล่างนี่แหละครับ


โดยส่วนตัว คิดว่าการสมัครใช้บริการเหล่านี้ในปัจจุบันเป็นเรื่องง่ายๆ และมีคำแนะนำที่ชัดเจน แต่หากการจัดทำวีดิโอนี้แล้ว ท่านผู้อ่านยังไม่เข้าใจหรือยังทำไม่ได้ ก็ทิ้งคำถามไว้นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูที่จะเข้าอบรม เพราะหากทำไม่ได้จะมีปัญหาในวันอบรมมาก กรุณาทิ้งคำถามไว้นะครับ ผมจะช่วยตอบให้ หรืออาจมีผู้รู้ผ่านมาทางนี้ ก็จะได้ช่วยกัน ^_^