19 สิงหาคม 2554

เครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์กับการสอนวิทยาศาสตร์

ในการเรียนวิทยาศาสตร์เราสามารถใช้ประโยชน์ได้จากอย่างมากมายจากเครื่องคิดเลข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิทยาศาสตร์ภาคคำนวณ ซึ่งพบได้บ่อยๆ ในวิชาฟิสิกส์ และเคมี (ชีววิทยาก็อาจมีบ้างแต่ไม่มาก) การจะใช้คอมพิวเตอร์ที่มีพลังการประมวลผลมากๆ ก็สามารถทำได้ แต่ความเหมาะสมอาจมีไม่มากเท่ากับการใช้เครื่องคิดเลข เพราะขนาดคอมพิวเตอร์ทั่วไปจะมีขนาดโตกว่า ต้องใช้แหล่งพลังงานมากกว่า รวมไปถึงต้องเรียนรู้การใช้งานเบื้องต้นก่อนนำไปประมวลผลอีก ในขณะที่เครื่องคิดเลขใช้เวลาน้อยกว่าในการเรียนรู้ มีขนาดเล็ก กระทัดรัด พกพาสะดวกออกแบบมาให้ใช้งานง่ายตรงไปตรงมา ราคาถูกกว่าคอมพิวเตอร์แน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องคิดเลขส่วนใหญ่จะมีข้อจำกัดที่มีหน่วยความจำสำหรับเก็บข้อมูลน้อย บางเครื่องเก็บขั้นตอนการทำงานไม่ได้ ผลการคำนวณก็เก็บได้แค่ไม่กี่จำนวน พิมพ์ผลลัพธ์ออกมาที่เครื่องพิมพ์ก็ไม่ได้  แต่ก็อาจเป็นข้อดีสำหรับเด็กนักเรียนของเรา เพราะเป็นนักเรียนได้่บันทึกข้อมูล ฝึกให้มีความละเอียดต่อขั้นตอนที่ได้ทำลงไป ทำให้เห็นกระบวนการ เห็นผลลัพธ์ของขั้นตอนย่อยๆ ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้มีความเข้าใจต่อข้อมูลที่ตนเองได้จัดกระทำยิ่งขึ้น

เครื่องคิดเลขทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันราคาถูกลงมาก ถึงแม้ไม่ได้ลดลงมากในสัดส่วนเดียวกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือพีซี ราคาในระดับ 500 ถึง 1000 บาท นี่ก็เรียกได้ว่าได้เครื่องคิดเลขที่มีความสามารถสูงมาใช้แล้ว  ยี่ห้อของเครื่องคิดเลขเหล่านี้ ก็มีอย่างมากมาย ที่บ้านเราพอจะหาซื้อได้ เช่น Casio Canon Sharp เป็นต้น ระยะหลังๆ ก็มีเครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์จากประเทศจีนเข้ามาขายเยอะมาก ที่สำคัญราคาถูกมากด้วย ฟังก์ชั่นการใช้งานก็จะคล้ายๆ กัน ดังนั้นใครจะลองหามากดคำนวณเล่นๆ ดูถือว่าคุ้มค่ามาก (แต่ไม่รู้ว่าจะทนไม้ทนมือได้แค่ไหน)
ตัวอย่างภาพเครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์จากการค้นหาใน Google



่หรือถ้าใครอยากจะทดลองใช้ฟังก์ชั่นเหล่านี้บนพีซีก่อนที่จะไปซื้อตัวจริง ก็มีแอพพลิเคชั่นเครื่องคิดเลข บนพีซีให้ใช้อย่างมากมาย เช่น ที่ติดมากับตัวระบบปฏิบัติการเอง หรือที่ให้บริการบนเว็บ
ตัวอย่างที่นำมาแสดงนี้เป็นเครื่องคิดเลขทางวิทยาศาสตร์บนเว็บที่น่าใช้
http://www.ecalc.com/
หรือ
http://www.mathopenref.com/calculator.html

บทความนี้ นำมาเป็นตัวอย่างเพียง 2 ชิ้น อันที่จริงมีมากกว่านี้มากมาย ลองใช้ Google ค้นหาคำว่า Scientific Calculator ก็จะพบว่ามีอยู่อย่างมากมายให้เลือกใช้ 

ย้อนกลับมาดูการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์คำนวณในบ้านเรา เอาเป็นบ้านผมก็แล้วกัน(ที่อุดรธานี) ส่วนใหญ่แล้ว จะไม่ให้นักเรียนใช้เครื่องคำนวณกัน (นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย) เพราะกลัวว่านักเรียนจะคิดเลขกันไม่เป็น  ซึ่งก็อาจจะจริง แต่บังเอิญว่า หลายๆ ความเข้าใจในเนื้อหาวิทยาศาสตร์มันต้องพิสูจน์กันด้วยตัวเลขผลลัพธ์ การจะไปรอให้นักเรียนทุกคนบวก ลบ คูณ หาร ยกกำลัง หรือใช้ฟังชั่นตรีโกณมิติ ล็อกการึทึ่มเหล่านี้ให้ถูกต้องไม่น่าจะสำคัญเท่ากับว่า ควรนำตัวเลขไหนมาดำเนินการทางคณิตศาสตร์กับตัวเลขไหนมากกว่า่  พูดง่ายๆ ก็คือว่า ครูหลายคนไปให้ความสนใจ "เลขคณิต" มากกว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่นำเอาคณิตศาสตร์มาเป็นเครื่องมือ ผมเองก็ติดบ่วงนี้เหมือนกัน เพราะสอนฟิสิกส์แต่เวลาส่วนใหญ่กลับใช้เพื่อการคำนวณด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ ที่นักเรียนลืมไปแล้ว

ในความคิดเห็นของผม จึงมีความเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร หากเรียนวิทยาศาสตร์คำำนวณแล้ว จะใช้เครื่องคิดเลขมาเป็นเครื่องมือในการคำนวณ เลยพยายามที่จะทำการทดลอง แต่ก็ติดปัญหาคือ นักเรียนต้องซื้อเครื่องคิดเลข ถึงแม้จะไม่แพงเมื่อเทียบกับความคุ้มค่า แต่สำหรับผู้ปกครองบางคนเรื่องนี้อาจทำให้เกิดปัญหาได้ เดี๋ยวมีการพูดจากันในกลุ่มนักเรียนแล้วได้ยินไปถึงผู้อำนวยการโรงเรียน ก็จะเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ไปอีก

จึงได้มานำเสนอไอเดียที่บล็อกนี่เอง โดยเริ่มต้นจากแนวคิด เดี๋ยวต่อๆ ไป ก็อาจลองพรีวิว เครื่องคิดเลขทางวิทยาศาสตร์ถูกๆ ดู หากมีใครสนใจ หรือนักเรียนที่ตนเองสอนมีความพร้อมก็จะได้ใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการเรียนรู้ต่อไป ดัีงนั้นจึงตั้งใจที่จะเขียนคู่มือการใช้งานง่ายๆ ของเครื่องคิดเลขราคาถูกๆ มาแปะบล็อกไว้ หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ยกตัวอย่างการใช้งานทางวิทยาศาสตร์สนุกๆ ให้นักเรียนได้นำไปเล่นต่อไป  ใครมีความคิดเห็นประการใดก็ช่วยชี้แนะด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น