16 เมษายน 2555

ทำความเข้าใจกับภาพจาก SOHO ตอน 1

อากาศระยะนี้(เดือนเมษายน)ร้อนมาก การอยู่ในเมืองร้อนและในฤดูร้อนอย่างนี้  การมีประเพณีสงกรานต์จึงเป็นอุบายของคนรุ่นปู่ทวด ย่าทวด ที่ยอดเยี่ยมมากๆ เป็นการปลดปล่อยความร้อนด้วยน้ำ นอกจากปลดปล่อยความร้อนยังปลดปล่อยความเครียดด้วย เพราะมันสนุกที่ได้สาดน้ำคนอื่นพร้อมกับแจกยิ้มไปด้วย เขาก็ยิ้มตอบ "เจ๋งสุดๆ" จนลืมร้อนไปได้ชั่วขณะ

แต่มันก็ยังร้อน ดวงอาทิตย์ก็ยังคงเป็นดวงเดิมแต่ทำไมมันจึงร้อนกว่าเดือนธันวาคมนัก เหตุผลนี้นักเรียนประถมศึกษาตอนปลายหลายคนก็ตอบได้แล้วล่ะ แต่ด้วยเหตุที่คิดถึงดวงอาทิตย์นี่แหละ วิญญาณครูฟิสิกส์ก็เลยผุดขึ้นมา เออถ้างั้นเขียนเรื่อง SOHO ดีกว่า เผื่อมีใครว่างได้อ่านก็จะได้ความรู้บ้าง เพราะอีกนานกว่าจะเปิดเทอม เป็นความรู้เกี่ยวกับดวงอาทิตย์โดยผ่านการสังเกตดวงอาทิตย์โดยตรง สำหรับคนที่ยังไม่มีโปรเจกต์วิทยาศาสตร์ทำ ก็อาจได้ไอเดียไปทำโปรเจกต์อีก

นั่นคือแวบแรกที่ครูได้คิดและก็ได้เขียนเนื้อหาตอนที่แล้วออกมา เพราะการที่เราจะมานั่งดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่านี่ถือเป็นวิธีที่โง่ๆมาก เพราะมันอันตรายมาก อย่าทำเด็ดขาด และที่อันตรายกว่านั้น ก็คือการใช้อุปกรณ์พวกเลนส์แบบต่างๆ ที่ผิดวิธี หรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ชนิดนั้นๆ อย่างดีพอ ฉะนั้นจึงแนะนำว่าดูจาก SOHO ดีกว่า เจ๋งกว่าเยอะ ถ้าอยากได้บรรยากาศก็นั่งดูกลางแดดก็ยังได้ :-)

สรุปก็คือ ครูจะพาดูดวงอาทิตย์ โดยดูจากภาพที่บันทึกมาจากกล้องบนยาน SOHO ในตอนท้ายของตอนที่แล้วก็แนะนำ "คำค้น" ไปแล้ว ลองค้นดูนะครับมันจะได้รายการเว็บขึ้นมาดังภาพ (ค้นด้วย google)



ถ้าค้นด้วย search engine อื่นๆ ผลก็อาจแตกต่างไปจากนี้ ครูจึงแนะนำให้ค้นจาก google ครับ
คลิกที่รายการแรก ก็เห็นหน้าตา สีสัน ของดวงอาทิตย์จาก SOHO ของเราแล้วครับ


มีรายการของภาพที่แตกต่างกัน 8 ภาพ เรามาเริ่มสำรวจกันเล่นๆ ก่อนที่ดวงสีส้มเรียบๆ (แถวที่สอง ดวงแรก) ที่มันเขียนว่า SDO/HMI Continuum นั่นล่ะ  คลิกที่รูปภาพเลยครับ


ดวงนี้จะเหมือนกับพระอาทิตย์ดวงที่เราเห็นตอนเย็นๆ ก่อนพระอาทิตย์ตกมากที่สุด ทั้งสีสันและรายละเอียด คลิกเข้าไปอีกทีหนึ่งครับ ครูอยากให้เห็นรายละเอียดบางอย่าง

สิ่งที่ได้ก็คือ ภาพดวงอาทิตย์จะโตเต็มจอ แล้วก็ "จุดบนดวงอาทิตย์" (sun spot) ซึ่งบางเวลาก็มีเยอะ บางเวลาก็ไม่ค่อยมี จากนั้นให้เลื่อนมาดูที่ข้อความเล็กๆ ที่ปรากฎด้านล่างซ้้ายของภาพ ซึ่งครูจะซูม-ขยาย ให้ดู


อยากให้ทำความเข้าใจกับชุดตัวเลขด้านหลังครับ อักขระที่อยู่ด้านหน้า(ซึ่งเดี๋ยวค่อยทำความเข้าใจทีหลัง)

20120416 - นี่ก็หมายความว่า ภาพนี้บันทึกเมื่อปี ค.ศ.2012 เดือน 04 (เมษายน) วันที่ 16

013000 - นี่ก็เป็นเวลา บอกเราว่าภาพนี้บันทึกเวลาตีหนึ่ง (01) สามสิบนาที (30) 00 วินาที  แต่เวลาที่บอกนี้เป็นเวลา UT (Universal Time) ถ้าจะให้เป็นเวลาที่ประเทศไทยเราก็ต้องบวกด้วย 7 เพราะเราอยู่ Time Zone +7 ดังนั้นขณะที่ครูจับภาพหน้าจอมายกตัวอย่างในทุกคนดูอยู่นี้ ก็เป็นเวลา 8 นาฬิกา 30 นาที 00 วินาที ครับ

ณ เวลาที่ว่านี้ หากเรามีกล้องพร้อมอุปกรณ์ครบ และใช้มันอย่างเข้าใจเป็นอย่างดี (ย้ำ) เราก็จะเห็นตำแหน่งของ "จุดบนดวงอาทิตย์" (ไม่ใช่ จุดดับบนดวงอาทิตย์นะครับ จุด เฉยๆ) เหมือนๆ กับภาพที่เราได้นี่ล่ะ

ตอนนี้ขออธิบายสั้นๆ แค่นี้ก่อนนะครับ เดี๋ยวมาต่อตอนต่อไป ครูจะอธิบายว่า ภาพแต่ละภาพมันหมายถึงอะไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น