21 กรกฎาคม 2552

กล้องดิจิตอลกับการเรียนรู้ฟิสิกส์

เดี๋ยวนี้ราคากล้องดิจิตอลขนาด 7 ล้านพิกเซล ราคา 3,000 บาทต้นๆ ก็มีขายแล้ว อะไรจะขนาดนั้น ถูกกว่ากล้องฟิล์มในอดีตซะอีก ไม่เหมือนออกมาตอนแรกๆ จำได้ว่า มีชาวต่างประเทศท่านหนึ่งมาเที่ยวประเทศไทย แล้วเกิดใจบุญบริจาคกล้องดิจิตอลให้โรงเรียนตัวหนึ่ง 4 ล้านพิกเซล เลยลองเช็คราคาดูพบว่า ราคาประมาณ 4 หมื่นบาท (แพงมาก) ประมาณปี 2545 (ถ้าจำไม่ผิด) แต่แกไม่ได้ให้ Compact Flash Card ไว้ ก็เลยต้องหาซื้อเองตอนนั้น 256 MB ราคาประมาณพันกว่าบาท

กล้องดิจิตอล เป็นอุปกรณ์ที่เข้าถึงผู้ใช้อย่างรวดเร็ว เพราะปกติคนเรามักชอบเดินทางท่องเที่ยวอยู่แล้ว และที่ขาดไม่ได้คือการบันทึกภาพความสนุกสนานประทับใจของการเดินทางนั้นด้วย แพงนิดนึง คนก็เจียดเงินซื้อมาเล่นกัน ไปเที่ยวที่ไหน จึงเป็นคนถือกล้องดิจิตอล (คอมแพค) กันเป็นจำนวนมาก จนเรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติอย่างมากแล้ว  ไม่เว้นแม้นักเรียนที่มีกล้องดิจิตอลใช้ในการทำรายงาน  วันก่อนไปเที่ยวภูพระบาท อำเภอบ้านผือ เห็นนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่ง สอบถามดูบอกว่าอยู่ชั้น ม. 5 ไปหาข้อมูลทำรายงานกัน อุปกรณ์ที่นักเรียนถือไปด้วยก็คือ กล้องดิจิตอล บันทึกภาพไปเรื่อยเปื่อย ทั้งภาพคน ภาพสถานที่ กล้องที่ใช้มี 2 ตัว นี่ไม่รวมกล้องที่ติดอยู่กับโทรศัพท์มือถืออีก บันทึกภาพกันสนุกไปเลย (ไม่รู้ว่าได้บันทึกข้อมูลอื่นๆ นอกจากภาพด้วยหรือเปล่า)

ในกล้องดิจิตอลทุกวันนี้ จะมีโหมดการถ่ายวิดีโอด้วย บางคนเรียกว่า ถ่ายคลิป ซึ่งบันทึกเป็นภาพเคลื่อนไหวด้วยคุณภาพภาพที่ค่อนข้างดีทีเดียวในสภาพแสงแดด หน่วยความจำที่เป็นแผ่น ก็มีความจุสูงมาก สามารถถ่ายวิดีโอได้นานหลายนาที ด้วยโหมดคุณภาพสูงสุด ทำให้กล้องดิจิตอล เป็นได้ทั้งกล้องถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เรียกได้ว่า เอนกประสงค์มากเลยทีเดียว

เขียนมาตั้งนานยังไม่เข้าเรื่องเลย หัวเรื่องบอกว่า "กล้องดิจิตอลกับการเรียนรู้ฟิสิกส์" จุดประสงค์ก็คือ ต้องการชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีที่เป็นของเล่นของคนยุคใหม่นี้ เราสามารถนำมาใช้ในการเรียนรู้ฟิสิกส์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะได้เล่าให้ฟังเป็นตอนๆ ไป ตอนเดียวนี้คงไม่จบแน่ แต่อยากจะเกริ่นไว้ก่อนว่า คุณสมบัติที่ของกล้องที่จะนำมากล่าวถึงในช่วงแรกนี้ ก็คือ การถ่ายภาพเคลื่อนไหว หรือภาพวิดีโอของกล้องดิจิตอลนั่นเอง ทั้งนี้ก็เพราะว่าวิดีโอ เป็นการนำเสนอภาพนิ่งจำนวน 10-30 ภาพต่อวินาที สายตาเราจึงมองเห็นความต่อเนื่องของภาพ หากเราสามารถแยกภาพเคลื่อนไหวเหล่านี้ออกมาเป็นภาพนิ่ง เราก็จะได้ลำดับภาพที่รู้ช่วงเวลาของแต่ละภาพ นั่นก็หมายความว่าเรามีนาฬิกาติดกับชุดของภาพถ่ายนั่นด้วย เมื่อนำไปเทียบเคียงกับปริมาณอื่นๆ เราก็จะสามารถวิเคราะห์ปริมาณทางฟิสิกส์ออกมาได้ เราจึงสามารถหาความเร็ว ความเร่ง และปริมาณอื่นๆ ได้อีกเป็นจำนวนมาก การเรียนการสอนฟิสิกส์โดยเฉพาะกลศาสตร์เบื้องต้น ก็จะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่พื้นฐานเหล่านี้นี่เอง ซึ่งจะได้พูดถึงในตอนต่อไป เกี่ยวกับการใช้กล้องดิจิตอลในการหาความเร็ว ความเร่งของวัตถุ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น