21 กรกฎาคม 2552

กล้องดิจิตอลกับการเรียนรู้ฟิสิกส์

เดี๋ยวนี้ราคากล้องดิจิตอลขนาด 7 ล้านพิกเซล ราคา 3,000 บาทต้นๆ ก็มีขายแล้ว อะไรจะขนาดนั้น ถูกกว่ากล้องฟิล์มในอดีตซะอีก ไม่เหมือนออกมาตอนแรกๆ จำได้ว่า มีชาวต่างประเทศท่านหนึ่งมาเที่ยวประเทศไทย แล้วเกิดใจบุญบริจาคกล้องดิจิตอลให้โรงเรียนตัวหนึ่ง 4 ล้านพิกเซล เลยลองเช็คราคาดูพบว่า ราคาประมาณ 4 หมื่นบาท (แพงมาก) ประมาณปี 2545 (ถ้าจำไม่ผิด) แต่แกไม่ได้ให้ Compact Flash Card ไว้ ก็เลยต้องหาซื้อเองตอนนั้น 256 MB ราคาประมาณพันกว่าบาท

กล้องดิจิตอล เป็นอุปกรณ์ที่เข้าถึงผู้ใช้อย่างรวดเร็ว เพราะปกติคนเรามักชอบเดินทางท่องเที่ยวอยู่แล้ว และที่ขาดไม่ได้คือการบันทึกภาพความสนุกสนานประทับใจของการเดินทางนั้นด้วย แพงนิดนึง คนก็เจียดเงินซื้อมาเล่นกัน ไปเที่ยวที่ไหน จึงเป็นคนถือกล้องดิจิตอล (คอมแพค) กันเป็นจำนวนมาก จนเรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติอย่างมากแล้ว  ไม่เว้นแม้นักเรียนที่มีกล้องดิจิตอลใช้ในการทำรายงาน  วันก่อนไปเที่ยวภูพระบาท อำเภอบ้านผือ เห็นนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่ง สอบถามดูบอกว่าอยู่ชั้น ม. 5 ไปหาข้อมูลทำรายงานกัน อุปกรณ์ที่นักเรียนถือไปด้วยก็คือ กล้องดิจิตอล บันทึกภาพไปเรื่อยเปื่อย ทั้งภาพคน ภาพสถานที่ กล้องที่ใช้มี 2 ตัว นี่ไม่รวมกล้องที่ติดอยู่กับโทรศัพท์มือถืออีก บันทึกภาพกันสนุกไปเลย (ไม่รู้ว่าได้บันทึกข้อมูลอื่นๆ นอกจากภาพด้วยหรือเปล่า)

ในกล้องดิจิตอลทุกวันนี้ จะมีโหมดการถ่ายวิดีโอด้วย บางคนเรียกว่า ถ่ายคลิป ซึ่งบันทึกเป็นภาพเคลื่อนไหวด้วยคุณภาพภาพที่ค่อนข้างดีทีเดียวในสภาพแสงแดด หน่วยความจำที่เป็นแผ่น ก็มีความจุสูงมาก สามารถถ่ายวิดีโอได้นานหลายนาที ด้วยโหมดคุณภาพสูงสุด ทำให้กล้องดิจิตอล เป็นได้ทั้งกล้องถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เรียกได้ว่า เอนกประสงค์มากเลยทีเดียว

เขียนมาตั้งนานยังไม่เข้าเรื่องเลย หัวเรื่องบอกว่า "กล้องดิจิตอลกับการเรียนรู้ฟิสิกส์" จุดประสงค์ก็คือ ต้องการชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีที่เป็นของเล่นของคนยุคใหม่นี้ เราสามารถนำมาใช้ในการเรียนรู้ฟิสิกส์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะได้เล่าให้ฟังเป็นตอนๆ ไป ตอนเดียวนี้คงไม่จบแน่ แต่อยากจะเกริ่นไว้ก่อนว่า คุณสมบัติที่ของกล้องที่จะนำมากล่าวถึงในช่วงแรกนี้ ก็คือ การถ่ายภาพเคลื่อนไหว หรือภาพวิดีโอของกล้องดิจิตอลนั่นเอง ทั้งนี้ก็เพราะว่าวิดีโอ เป็นการนำเสนอภาพนิ่งจำนวน 10-30 ภาพต่อวินาที สายตาเราจึงมองเห็นความต่อเนื่องของภาพ หากเราสามารถแยกภาพเคลื่อนไหวเหล่านี้ออกมาเป็นภาพนิ่ง เราก็จะได้ลำดับภาพที่รู้ช่วงเวลาของแต่ละภาพ นั่นก็หมายความว่าเรามีนาฬิกาติดกับชุดของภาพถ่ายนั่นด้วย เมื่อนำไปเทียบเคียงกับปริมาณอื่นๆ เราก็จะสามารถวิเคราะห์ปริมาณทางฟิสิกส์ออกมาได้ เราจึงสามารถหาความเร็ว ความเร่ง และปริมาณอื่นๆ ได้อีกเป็นจำนวนมาก การเรียนการสอนฟิสิกส์โดยเฉพาะกลศาสตร์เบื้องต้น ก็จะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่พื้นฐานเหล่านี้นี่เอง ซึ่งจะได้พูดถึงในตอนต่อไป เกี่ยวกับการใช้กล้องดิจิตอลในการหาความเร็ว ความเร่งของวัตถุ



07 กรกฎาคม 2552

ของเล่นใหม่ Puppy Linux

ในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ หลายๆ แห่งที่มีเงินเยอะๆ ทั้งเงินบนโต๊ะ ใต้โต๊ะ สามารถนำมาซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ ให้นักเรียนใช้ได้ทุกปี เคยเห็นโรงเรียนเหล่านี้โละคอมพิวเตอร์เก่าที่ใช้งานได้ดี ให้พ่อค้าภายนอกมาซื้อต่อไปราคาถูกๆ แล้วก็เสียดาย เหตุผลของโรงเรียนเหล่านี้ ก็คงต้องการอัพเกรดคอมพิวเตอร์ของตนเองเพื่อให้สามารถใช้ feature ของซอฟท์แวร์ใหม่ๆ ได้ เช่น Vista , Windows 7 อะไรพวกนี้แหละ เมื่อเทียบกับโรงเรียนเล็กๆ ที่ไม่มีงบประมาณมากพอที่จะอัพเกรด คอมพิวเตอร์ของตนเองให้ใช้ซอฟท์แวร์ใหม่ๆ ได้ ก็รู้สึกสงสาร โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสมาเรียนโรงเรียนใหญ่ที่อยู่เฉพาะในอำเภอเมือง หรืออำเภอใหญ่ๆ ได้

วันก่อนไม่รู้ Google อีท่าไหนเข้าไปเจอ Linux distribution หนึ่ง ชื่อน่ารักๆ ว่า Puppy Linux หรือ เจ้าหมาน้อย ลองไปดาวน์โหลดมาเล่น อ๊ะ เข้าท่า น่ารักดี จะใช้อินเทอร์เนต ดูหนัง ฟังเพลง โดยใช้กับ Athlon 2 GHz Ram 512 MB เครื่องเดิมที่ใช้ XP Pro. อยู่นั่นเอง แต่ที่ลองใช้เจ้าหมาน้อยได้ ก็เพราะว่าไม่ต้องติดตั้งเลย ใช้แ่ผ่น Live CD มาลองเล่น ปรากฏว่าเร็วมาก ไม่น่าเชื่อเลย ไม่ว่าจะฟังเพลงจาก Youtube เล่นเกมส์ออนไลน์ โดยที่สิ่งที่เราเล่นนั้นไม่ได้ไปรบกวนไฟล์ที่อยู่ในฮาร์ดดิสก์เลย แถมยังเรียกไฟล์จากฮาร์ดดิสก์มาใช้ได้อีกด้วย แจ๋วจริงๆ

ลองค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม ปรากฏว่า เจ้าหมาน้อยนี้กินกำลังเครื่องน้อยมาก ในกระทู้บางแห่งบอกว่า ใช้ซีพียู Celeron 266 MHz Ram 256 MB เท่านั้น ก็สามารถเล่นได้ อ๊ะ จริงหรือเปล่า พอดีที่โรงรถ ทิ้งเมนบอร์ด TX-Pro2 ไว้แผ่นหนึ่ง แล้วเหลือ SD-Ram เก่า 64 MB 2 แผ่น ลองเอามาเซตดูดีกว่า พอดีเป็นวันหยุดยาว เลยเล่นซะสนุกไปเลย

สเปกเครื่องที่เก็บเล็กผสมน้อยจากโรงรถ
CPU : Cyrix 300 MHz
Mainboard : TX-pro II
Ram : 128 MB (64MBx2)
Harddisk : NO (ไม่มี)
Floppy : No
CD-ROM : 52X (แกะออกจากเครื่องที่ใช้ประจำ)
จอ CRT 17 " (พอดีเพิ่งซื้อ 17" LCD มาแทนตัวเดิม)
Power Supply : AT200 W
ใช้เวลาประกอบ 1 วันเต็มๆ เพราะต้องไปซื้อ หัวต่อคีย์บอร์ดที่แปลงจาก หัวโตๆ มาต่อกับคีย์บอร์ดแบบ PS/2 แล้วก็ต้องเป่าฝุ่นกับสนิมออกจากกล่องเก่าๆ อีก ...

.... ใจเต้นตุ้มๆ ต่อมๆ กลัวเจ้าหมาน้อยจะดื้อไม่ยอมวิ่งให้ เวอร์ชั่นเจ้าหมาน้อยที่ใช้คือ 4.2.1 ใหม่ล่าสุดเลย ใส่แผ่นแล้วเปิดเครื่อง เซตตั้งค่า CMOS ให้บูตจาก CD-Rom , แชร์แรมให้จอภาพ 4 MB แปลว่าเหลือแรมให้เจ้าหมาน้อยได้ใช้ 124 MB ใส่แผ่น Live CD เข้าไป แล้วเริ่มบูตเครื่องใหม่

ปรากฏว่า เจ้าหมาน้อยสามารถบูตเครื่องเก่า ที่คุณแม่บ้านผม เกือบเอาไปโยนทิ้งขยะไปหลายๆ ครั้งแล้วได้อย่างน่าทึ่ง ถึงแม้จะใช้เวลานานประมาณ 5 นาที ในการบูตก็ตาม สนุกล่ะทีนี้ ผมลองต่ออินเทอร์เนต ปรากฏว่า เจ้า Seamonkey ใช้เวลาเกือบนาทีในการเริ่ิมต้นการทำงาน แต่ก็ทำงานให้อย่างดีทีเดียว ลองเช็คเมล์ พิมพ์ข้อความ (พิมพ์ได้แต่ภาษาอังกฤษ) ทำได้ดีทีเดียว ดูเหมือนจะเร็วใกล้ๆเคียงเครื่อง Athlon ที่ติดตั้ง XP ด้วยซ้ำ (แต่บางครั้งก็มีสะดุดบ้าง) ใช้ Google ค้นหาบทความอ่านได้อย่างไม่มีปัญหา ... เอาล่ะ ทีนี้ลองเข้าไปดูวีดิโอที่ Youtube ดู เปิดมิวสิควีดิโอดู เป็นเพลงฝรั่ง ... เป็นเพลงของ Micheal Bolton จำไม่ได้ว่าเพลงอะไร ....
OK เห็นปัญหาแล้วครับ .... Flash Player Plug-in ทำงานได้ดี แต่ช้าครับ ทั้งภาพและเสียงของเพลงจึงสะดุด ๆ ๆ
...
แต่ก็พอใจครับ เดี๋ยวจะลองไปหาแรมมาเพิ่มดูน่าจะดีขึ้น นี่ยังไม่ลองเล่นเกมส์ออนไลน์ แต่ได้ข้อคิดดีๆ ตรงที่ คอมพิวเตอร์เก่าๆ สเปคนี้ หลายๆ แห่งเขาโยนทิ้งไปเยอะแล้ว ถ้าเราสามารถรวบรวมคอมพิวเตอร์เหล่านี้ มาอัพเกรด และลงเจ้าหมาน้อยลงไป (โดยไม่ต้องมีฮาร์ดดิสก์เลย) ให้นักเรียนได้ฝึกพิมพ์ดีด (ภาษาไทย น่าเซตเพิ่มได้) ได้ท่องอินเทอร์เนต ได้ฟังเพลง (แบบไม่ต้องมีภาพก็ได้) ก็น่าจะดีไม่น้อย การเรียนรู้ของเด็กบ้านนอก ก็น่าจะดีขึ้นไปด้วย

แจ๋ว อย่างน้อยวันหยุดยาวนี้ ก็ได้เรื่องราวได้เก็บไปคิด ไปทำต่อได้อีกเยอะแล้วนะเนี่ย :-)