หลายห้องครูขอความร่วมมือให้ทำแบบทดสอบก่อนเรียน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ต้องขอขอบคุณนักเรียนทุกคนที่ให้ความร่วมมือ บางห้องมีเวลาเหลือ ก็ได้แจ้งขอบข่ายเนื้อหาให้นักเรียนทราบแล้ว แต่บางห้องก็ไม่ได้แจ้ง เลยนำมาเขียนสรุปไว้ เผื่อจะมีบางคนไม่ได้จดไว้
- คลื่นกล
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเคลื่อนที่แบบคลื่น โดยเน้นมาถึงคลื่นกลที่สามารถศึกษากายวิภาคของมันได้ง่าย นั่นก็คือ คลื่นน้ำ คลื่นสปริง ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากสำหรับการศึกษาเรื่องคลื่น สิ่งที่นักเรียนต้องเกิดคอนเซ็ปให้ได้ก็คือ ลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างการเคลื่อนที่แบบคลื่น กับการเคลื่อนที่ของอนุภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมบัติ "การรวมกันได้" ของคลื่น หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "superposition" คลื่นสปริงกับคลื่นน้ำ จะถูกนำมายกตัวอย่างมากที่สุด - เสียง
คลื่นเสียง เป็นคลื่นกล แต่ว่าการสังเกตโดยตรงทำได้ยากกว่า ในบทแรก ในบทนี้จะเริ่มกล่าวถึงตั้งแต่ ความเร็วของเสียงในตัวกลางต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเร็วเสียงในอากาศ ซึ่งอุณหภูมิของอากาศจะมีผลโดยตรงต่ออัตราเร็วของเสียง จากนั้นก็เป็นเื่รื่องของการเกิดคลื่นนิ่ง (standing wave) ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญมาก และหากได้คอนเซ็ปเรื่องนี้ จะทำให้เข้าใจถึงธรรมชาติของคลื่นเสียงได้ดีขึ้น แต่บางคนก็ว่ายาก คงต้องให้เวลากับมันหน่อย หัวข้อท้ายๆ ก็จะเป็นการกล่าวถึงการเคลื่อนที่ของแหล่งกำเนิดเสียง ซึ่งจะทำให้เกิดผล 2 อย่าง คือ โซนิคบูม กับดอพเพลอร์เอฟเฟก - แสง
แสงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่ยุควิทยาศาสตร์เฟื่องฟูในยุคแรกๆ แต่ในระหว่างเถียงกันนั้น ก็เกิดทฤษฎีความรู้ขึ้นมาอธิบายมากมาย เรื่องนี้สนุกทีเดียว แต่เรามักจะหยุดสนุกตรงการคำนวณเกี่ยวกับแสงเชิงเรขาคณิต แต่คนที่ชอบเรขาคณิตจะชอบ การคำนวณไม่มีอะไรซับซ้อนแต่ต้องเข้าใจหลักการ ไม่ใช่ท่องสูตรตะพึดตะพือ การจำสูตรได้แต่ไม่เข้าใจ ก็แก้ปัญหาโจทย์ไม่ได้อยู่ดี - แสงและทัศนอุปกรณ์
เป็นการนำความรู้เรื่องแสงมาใช้ประโยชน์ โดยผ่านการวิเคราะห์ทัศนอุปกรณ์ต่างๆ ว่าใช้หลักการอะไรบ้างและอย่างไร
สัปดาห์ต่อไป (เริ่มต้นวันที่ 3 พฤศจิกายน 2551) จะเริ่มต้นที่เรื่อง คลื่น ครูเขียนบล็อกเอาไว้บ้างแล้ว นักเรียนน่าจะลองไปศึกษาดูก่อนนะครับ เวลาเรียนจะได้ไปเร็ว
- คลื่น : การสั่น
- คลื่น:ประเภทของคลื่น
- คลื่น : อัตราเร็วของคลื่นในตัวกลางต่างๆ
- คลื่น : การเคลื่อนที่แบบคลื่น
- คลื่น : อัตราเร็วของคลื่น
- คลื่น : คุณลักษณะมูลฐานของคลื่น